ความเป็นมา โคก หนอง นา โมเดล ฐานทัพเรือกรุงเทพ

Release Date : 08-02-2021 00:00:00
ความเป็นมา โคก หนอง นา โมเดล ฐานทัพเรือกรุงเทพ

ความเป็นมา

“โคก หนอง นา โมเดล ฐานทัพเรือกรุงเทพ”

               ตามนโยบายประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ของ พลเรือเอก ชาติชาย  ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือในด้านกิจการพลเรือนที่ต้องการสนองตอบงานในโครงการพระราชดำริ เพื่อต้องการให้เป็นศูนย์เรียนรู้ เศรษฐกิจพอเพียงแก่กำลังพลของหน่วย รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนที่สนใจเข้าเยี่ยมชมนั้นพลเรือตรี ชัยณรงค์  บุณยรัตกลิน ผู้บัญชาการฐานทัพเรือกรุงเทพ มีแนวคิดในการดำเนินโครงการ โคก หนอง นา โมเดล ของฐานทัพเรือกรุงเทพ  ในพื้นที่ เรือนจำฐานทัพเรือกรุงเทพ เนื่องจากมีความท้าทาย
ในเรื่องสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นดินเค็ม น้ำกร่อย และระดับน้ำขึ้นลงไม่เป็นเวลา ทำให้ยากต่อการเพาะปลูก ในการจัดทำโครงการ โคก หนอง นา โมเดล ฐานทัพเรือกรุงเทพ ฐานทัพเรือกรุงเทพได้ใช้พื้นที่ ประมาณ ๕ ไร่ จัดทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้แก่กำลังพลของฐานทัพเรือกรุงเทพ หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนที่สนใจ ได้เข้ามาเยี่ยมชม แลกเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนา จนกระทั่งสามารถนำไปต่อยอดสู่ครอบครัว หมู่บ้านหรือชุมชน จนเกิดความยั่งยืนต่อไป

               โคก หนอง นา โมเดล คืออะไร

               โคก หนอง นา โมเดล คือ การจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้น ๆ โคก-หนอง-นา โมเดล เป็นการที่ให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเองโดยมี มนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้น อย่างเป็นระบบ โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งเป็นแนวทางทำเกษตรอินทรีย์ และการสร้างชีวิตที่ยั่งยืน โดยมีองค์ประกอบดังนี้

               ๑. โคก: พื้นที่สูง ดินที่ขุดทำหนองน้ำนั้นให้นำมาทำโคก บนโคกปลูก “ป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง”ตามแนวทางพระราชดำริ / ปลูกพืช ผัก สวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่ขั้นก้าวหน้า คือ ทำบุญ ทำทาน เก็บรักษา ค้าขาย และเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย / ปลูกที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ

               ๒. หนอง: หนองน้ำหรือแหล่งน้ำ ขุดหนองเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งหรือจำเป็น และเป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม (หลุมขนมครก) / ขุด “คลองไส้ไก่” หรือคลองระบายน้ำรอบพื้นที่ตาม ภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยขุดให้คดเคี้ยวไปตามพื้นที่เพื่อให้น้ำกระจายเต็มพื้นที่เพิ่มความชุ่มชื้น ลดพลังงาน ในการรดน้ำต้นไม้ / ทำ ฝายทดน้ำ เพื่อเก็บน้ำเข้าไว้ในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่โดยรอบ
ไม่มีการกักเก็บน้ำ น้ำจะหลากลงมายังหนองน้ำ และคลองไส้ไก่ ให้ทำฝายทดน้ำเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้ง / พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งการขุดลอก หนอง คู คลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และเพิ่มการระบายน้ำยามน้ำหลาก

               ๓. นา: พื้นที่นานั้นให้ปลูกข้าวอินทรีย์พื้นบ้าน โดยเริ่มจากการฟื้นฟูดิน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน คืนชีวิตเล็ก ๆ หรือจุลินทรีย์กลับคืนแผ่นดินใช้การควบคุมปริมาณน้ำในนาเพื่อคุมหญ้า ทำให้ปลอดสารเคมีได้ ปลอดภัยทั้งคนปลูก คนกิน / ยกคันนาให้มีความสูงและกว้าง เพื่อใช้เป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม ปลูกพืชอาหารตามคันนา

               โดยโครงการโคก หนอง นา โมเดล ฐานทัพเรือกรุงเทพ เริ่มจากการแกล้งดินตามศาสตร์พระราชาของรัชกาลที่ ๙

                การแกล้งดิน

               เนื่องจากพื้นที่ เรือนจำฐานทัพเรือกรุงเทพ เป็นพื้นที่ดินเค็ม น้ำเป็นน้ำกร่อยจึงทำให้ดินเสีย ไม่สามารถเพาะปลูกได้ จึงได้นำแนว พระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งมีโครงการแกล้งดิน ตามศาสตร์พระราช  เรือนจำฐานทัพเรือกรุงเทพ ได้ทำการทดลองแกล้งดิน โดยนำดินเค็มขุดขึ้นมาตากแดด คลุกเคล้ากับเศษวัชพืช และปูนขาว ในอัตราส่วน ๕:๒:๒ แล้วรดน้ำ ๒๐ วัน แล้วนำดินมาปลูกพืช ผักสวนครัว เช่น ผักกวางตุ้ง มะนาวพันธุ์จำรัส ๒๙ และไม้ยืนต้น เช่น สะเดา มะม่วง เป็นต้น ได้ผลเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งของการดำเนินตามโครงการ คือ น้ำ ดังนั้นฐานทัพเรือกรุงเทพ จึงได้จัดทำแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในโครงการจึงเป็นที่มาของ “น้ำจากฟ้า”     

               น้ำจากฟ้า

               เรือนจำฐานทัพเรือกรุงเทพ ได้เริ่มต้นทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดยได้น้ำจากฟ้า คือ ฝนได้ทำการกักเก็บน้ำในฤดูฝน จากหลังคากราบพักทหาร
ลงมากักเก็บไว้ในแท็งก์น้ำ จำนวน ๓ แท็งก์ เพื่อใช้รดน้ำ พืชผักในฤดูแล้ง ตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงได้รับการยกย่อง
ให้เป็น “ดวงใจราษฎร์ปราชญ์แห่งน้ำ”

 

 

 

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งของการดำเนินตามโครงการ คือ น้ำ ดังนั้นฐานทัพเรือกรุงเทพ จึงได้จัดทำแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในโครงการจึงเป็นที่มาของ “น้ำจากฟ้า”     

          น้ำจากฟ้า

          เรือนจำฐานทัพเรือกรุงเทพ ได้เริ่มต้นทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชาในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดยได้น้ำจากฟ้า คือ ฝนได้ทำการกักเก็บน้ำในฤดูฝน จากหลังคากราบพักทหารลงมากักเก็บไว้ในแท็งก์น้ำ จำนวน ๓ แท็งก์ เพื่อใช้รดน้ำ พืชผักในฤดูแล้ง ตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงได้รับการยกย่อง
ให้เป็น “ดวงใจราษฎร์ปราชญ์แห่งน้ำ”

 

 

 

 

โดยโครงการ โคกหนองนา ฐานทัพเรือกรุงเทพ ใช้วิธีการของเกษตรอินทรีย์ คือ ทำการเกษตรด้วยกรรมวิธีทางธรรมชาติ โดยพื้นที่ทำการเกษตรนั้น ต้องไม่มีสารพิษ หรือสารเคมีตกค้างและหลีกเลี่ยงจากการปนเปื้อนของสารเคมีทั้งทางดิน ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อความสมบูรณ์ทางชีวภาพในระบบนิเวศน์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามสมดุลของธรรมชาติให้มากที่สุด โดยไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ หรือสิ่งที่ได้มาจากการตัดต่อพันธุกรรม มุ่งเน้นการใช้ปัจจัยการผลิตที่มีแผนการจัดการอย่างเป็นระบบในการผลิตภายใต้มาตรฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้ได้ผลผลิตสูง อุดมด้วยคุณค่าทางอาหารและปลอดสารพิษ ทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิต สามารถประยุกต์ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติเพื่อคุณภาพชีวิต และสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

               ปุ๋ยชีวภาพจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง

               จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง คือ จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่พบได้ทั่วตามธรรมชาติทั้งในดินและน้ำทำหน้าที่กำจัดของเสีย ก๊าซและสารพิษต่าง ๆ

               ประโยชน์ของจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง

               ๑. ช่วยตรึงไนโตเจนในดิน เพิ่มไนโตเจนให้กับพืช

               ๒. เร่งการเจริญเติบโต ทำให้พืชแข็งแรงแล้วโตเร็วเป็น 3 เท่า

               ๓. เมื่อใช้ทางดินทำให้รากพืชแข็งแรงและหาอาหารได้ดีขึ้น ใช้กับนาข้าวช่วยเร่งการแตกกอของข้าว

               ๔. ช่วยในการย่อยธาตุอาหารและวัตถุอินทรีย์ในดิน เพื่อให้พืชดูดซึมไปใช้ได้อย่างง่ายดาย

               ๕. ป้องกันพืชโดยการทำลายจุลินทรีย์ไม่ดีในดิน ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคพืช

               ๖. เมื่อฉีดพ่นทางใบจะทำให้พืชดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น ทำให้พืชแข็งแรง

               ๗. ทำให้พืชใบเขียว สดไม่เหี่ยวง่าย

                 น้ำสะเดาฆ่าแมลง

                 เรือนจำฐานทัพเรือกรุงเทพ พื้นที่โดยรอบเป็น ดินเค็มและน้ำกร่อย ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงไม่มีการปลูกพืชผัก สวนครัว ทำให้มีแมลงศัตรูพืชชุกชุม เพราะเป็นพื้นที่เดียวที่มีการทำ โครงการเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ จึงได้ปลูกต้นสะเดา เพื่อทำน้ำยาฆ่าแมลง เพราะสะเดามีฤทธิ์กำจัดหนอนแมลงได้สะเดามีสารอะซาไดแรกติน (Azadirachtin) ซึ่งออกฤทธิ์โดยตรงต่อระบบต่อมไร้ท่อหรือระบบฮอร์โมนของหนอนแมลง เมื่อเข้าไปแล้วจะยับยั้งการกินอาหารของแมลง ทำให้แมลงศัตรูพืชกินอะไรไม่ได้ กินไม่ลง ในที่สุดก็จะอดตาย และสารตัวนี้มีมากที่สุดในต้นสะเดา

               โรงเลี้ยงใส้เดือน

               การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อใช้มูลไส้เดือนเอามาทำปุ๋ยอินทรีย์ปุ๋ยไส้เดือน หรือ ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากนำไส้เดือนดินสัตว์ตัวเล็กที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์มาเลี้ยงเพื่อเปลี่ยนองค์ประกอบและเพิ่มจุลินทรีย์ จนทำให้ได้ปุ๋ยหมักที่มีประสิทธิภาพ สามารถบำรุงต้นไม้ได้อย่างยอดเยี่ยม โดยปุ๋ยไส้เดือนมีลักษณะเป็นเศษอินทรีย์วัตถุที่ไส้เดือนดินกินเข้าไป แล้วย่อยสลายออกมาเป็นมูลที่มีประโยชน์ รูปทรงเป็นเม็ดร่วน สีดำหรือสีน้ำตาล โปร่งเบาจุความชื้นสูง ระบายน้ำและระบายอากาศดีแถมมีธาตุอาหารและปริมาณอินทรีย์วัตถุมาก

 

 

               ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการเปิดศูนย์การเรียนรู้ โคก หนอง นา โมเดล ฐานทัพเรือกรุงเทพ เป็นที่เรียบร้อย มีการมาตรวจเยี่ยมจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งมีการพัฒนาปรับปรุงโครงการให้ยั่งยืนต่อไป ให้เหมาะสมกับคำที่ว่า “กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ”

เรือนจำฐานทัพเรือกรุงเทพ ตั้งอยู่ที่ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ถนนสุขสวัสดิ์ ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จว.สมุทรปราการ