กองทัพเรือขอเชิญชวนร่วมรำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ “ป้อมปราการ คือ ฐานที่มั่นสุดท้ายในการรับมือกับภัยคุกคามจากทางทะเลของไทย” ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอ

Release Date : 07-07-2022 10:40:12
กองทัพเรือขอเชิญชวนร่วมรำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ   “ป้อมปราการ คือ ฐานที่มั่นสุดท้ายในการรับมือกับภัยคุกคามจากทางทะเลของไทย” ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอ

กองทัพเรือขอเชิญชวนร่วมรำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ
 
       “ป้อมปราการ คือ ฐานที่มั่นสุดท้ายในการรับมือกับภัยคุกคามจากทางทะเลของไทย” ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นช่วงที่ชาติตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลสำคัญทางแถบเอเชีย เพื่อแสวงหาอาณานิคม ประเทศต่าง ๆ รอบบ้าน อาทิ ญวน เขมร และ ลาว ต่างตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ส่วนพม่าและมลายู ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แผ่นดินสยามอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ การดำเนินการทางการทูตและการป้องกันประเทศทางทะเล ถูกใช้เป็นเครื่องมือหลัก ด้วยในการใช้กำลังทางทหารนั้น ชาติล่าอาณานิคมต่างใช้กำลังที่มาจากเรือรบเป็นสำคัญ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงภัยคุกคามในขณะนั้นเป็นอย่างดี จึงได้ทรงเลือกป้อมปราการเป็นหนึ่งในการเตรียมรับมือ อันเนื่องจากเวลานั้น ประเทศสยามไม่มีเรือที่จะสามารถใช้เป็นเรือรบโดยสมบูรณ์แบบ อีกทั้งทหารเรือที่มีอยู่ก็ยังขาดทักษะในการใช้เรือทำการรบ พระองค์จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมพระจุลจอมเกล้า ขึ้นบริเวณปากร่องน้ำเจ้าพระยา ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีอาวุธที่สำคัญ คือ “ปืนเสือหมอบ”
       “ปืนเสือหมอบ” หรือ “ปืนอาร์มสตรอง” ซึ่งถูกจัดหามาติดตั้ง ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า นับได้ว่าเป็นปืนที่มีความทันสมัยมากในขณะนั้น โดยเป็นปืนขนาด ๑๕๒/๓๒ มิลลิเมตร สร้างโดยบริษัท เซอร์ ดับบลิวจี อาร์มสตอง (Sir W.G. Armstrong) ประเทศอังกฤษ มีระยะยิงไกล ๘ กิโลเมตร ติดตั้งอยู่ในหลุมปืน ยกตัวขึ้นด้วยแรงน้ำมันไฮดรอลิกส์ในเวลายิง เมื่อยิงไปแล้วปืนสามารถหมอบลงเพื่อกำบังหรือบรรจุลูกปืน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “ปืนเสือหมอบ” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อปืนดังกล่าวด้วยเงินพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ จำนวน ๑๐ กระบอก โดยติดตั้งที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า จำนวน ๗ กระบอก และที่ป้อมผีเสื้อสมุทร จำนวน ๓ กระบอก โดยทรงรับสั่งให้พระยาชลยุทธโยธิน (หรือกัปตันริเชอลิเยอ ชาวเดนมาร์ก หนึ่งในชาวต่างชาติที่เข้ามารับราชการกำกับดูแลกิจการทหารเรือ) เป็นผู้ควบคุมการสร้างและการติดตั้งปืน ซึ่งต่อมาหลังสร้างปืนเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งมหาจักรี เพื่อทอดพระเนตรและการทดลองยิงปืนดังกล่าวที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ดังนั้น ในอดีตจึงถือได้ว่าป้อมพระจุลจอมเกล้า และป้อมผีเสื้อสมุทร เป็นป้อมปราการที่มีความสำคัญและทันสมัยในการป้องกันอริราชศัตรูที่รุกล้ำดินแดนจากทางทะเลเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นปราการด่านหน้าสำหรับการป้องกันประเทศ
       ช่วงเวลานั้นทางฝรั่งเศสได้หาเหตุก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกับทางฝ่ายไทยมาอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดฝ่ายไทยได้รับคำเตือนจากทางฝรั่งเศสว่า บัดนี้รัฐบาลฝรั่งเศสได้สั่งให้กองเรือรบเดินทางมาไซ่ง่อนแล้ว และถ้าเหตุการณ์ถึงคราวจำเป็นรัฐบาลฝรั่งเศสจะส่งกองเรือรบนั้นเข้ามากรุงเทพ ฯ รัฐบาลไทยมีความตั้งใจจะปิดปากน้ำเจ้าพระยา และต่อสู้ป้องกันปากน้ำตามกำลังที่จะกระทำได้ และในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ หรือพุทธศักราช ๒๔๓๖ เป็นวันที่กองเรือรบของฝรั่งเศสอันประกอบด้วย เรือปืนชั้นที่ ๒ แองคองสตังค์และเรือปืนโคเมต ภายใต้การบังคับบัญชาของ นาวาโทโบรี โดยมีเรือนำร่องที่มีชื่อว่า เรือเยเบเซ เดินทางสู่สยาม โดยเรือรบของทางฝ่ายฝรั่งเศสแล่นฝ่าแนวต้านทานของป้อมพระจุลจอมเกล้า และเรือที่ปรับเป็นเรือรบของฝ่ายสยาม ที่ทำการต่อสู้อย่างเต็มความสามารถ แต่เนื่องจากปืนต่างๆ ที่ติดตั้งบนเรือมีอานุภาพไม่มากพอที่จะทำลายเรือของทางฝรั่งเศสได้ ทำให้เรือฝรั่งเศสสามารถเดินเรือต่อไปจนถึงกรุงเทพ จอดทอดสมอหน้าสถานทูตฝรั่งเศสได้ในที่สุด เหตุการณ์ดังกล่าวฝ่ายสยามถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดความสัมพันธ์ ถูกปรับค่าปฏิกรรมสงคราม และด้วยปัจจัยที่เหนือความควบคุมอีกหลายประการ จึงถูกบังคับให้ยอมสละดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เพื่อรักษาความเป็นเอกราชของชาติไทยไว้ อีกทั้งเมืองจันทบุรีก็ถูกยึดไว้เป็นประกันเพื่อให้ปฏิบัติตามพันธสัญญา 
       “ถ้าความเป็นเอกราชของกรุงสยามได้สุดสิ้นไปเมื่อใด ชีวิตฉันก็คงจะสุดสิ้นไปเมื่อนั้น” พระราชหัตถเลขา ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสะท้อนความขมขื่นพระราชหฤทัยอย่างยิ่งยวด ต่อมาพระองค์ทรงดำเนินพระราโชบายทางด้านการทูตกับประเทศมหาอำนาจตะวันตกที่เป็นมิตรกับฝ่ายไทยจนเกิดการถ่วงดุลอำนาจจนเป็นผลสำเร็จ ทำให้สยามรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้น ทั้งยังทรงให้มีการพัฒนาการป้องกันประเทศในหลายด้าน และที่สำคัญคือทรงหวังให้คนไทยพึ่งพาตนเองในการป้องกันประเทศทางทะเลได้ ประมาณเพียง ๑ เดือนหลังเหตุวิกฤตการณ์ พระองค์ทรงส่งพระราชโอรสให้ไปศึกษาวิชาการทหารเรือยังประเทศอังกฤษ
       ๑๓ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ ซึ่งเป็นเวลา ๑๒๐ กว่าปีแล้ว คนไทยร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยที่พาชาติพ้นภัยและการก่อเกิดพัฒนาการทหารเรือเยี่ยงอารยประเทศของไทย และการป้องกันประเทศทางทะเลที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากป้อมปราการออกสู่ทะเลไกลเพื่อป้องกันภัยไม่ให้มาถึงแผ่นดิน ซึ่งในปัจจุบันยังหมายรวมถึงผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเป็นสำคัญ จากวันนั้นถึงวันนี้ อนุสรณ์ป้อมปราการของชาติ “ป้อมพระจุลจอมเกล้า” ความหมาย....คุณค่า....พระมหากรุณาธิคุณ...กำลังป้องกันชาติทางทะเล
       เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และวาระครบ ๑๒๙ ปี แห่งการรำลึกถึงวีรกรรมของวีรชนในวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ที่ได้เกิดยุทธนาวีระหว่างราชอาณาจักรสยามกับฝรั่งเศส ณ ปากน้ำเจ้าพระยาและป้อมพระจุลจอมเกล้า กองทัพเรือขอเชิญ ร่วมย้อนประวัติศาสตร์รำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ โดยมี การเสวนาทางวิชาการ ในหัวข้อ “เบื้องลึก วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒” พิธีวางพานพุ่มถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๕ พิธีสดุดีวีรชน พิธีสงฆ์ พิธีรำลึกปืนเสือหมอบ พบกับการแสดงแฟนซีดริลและการแสดงตีธงสองมือ จากนักเรียนจ่าทหารเรือ การแสดงดนตรี แสง สี เสียง และอีกมากมาย จากวงดุริยางค์ทหารเรือ เนื่องในวันรำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕ “ป้อมพระจุลจอมเกล้า” ความหมาย...คุณค่า...พระมหากรุณาธิคุณ...กำลังป้องกันชาติทางทะเล ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ในวันอังคารที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ตั้งแต่เวลา ๑๓๐๐ เป็นต้นไป
#รวมใจภักดิ์รักษ์ชาติราษฎร์ศรัทธา
#ฐานทัพเรือกรุงเทพ
#๑๒๙ ปี รำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒

รูปภาพที่เกียวข้อง
กองทัพเรือขอเชิญชวนร่วมรำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ   “ป้อมปราการ คือ ฐานที่มั่นสุดท้ายในการรับมือกับภัยคุกคามจากทางทะเลของไทย” ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอ
ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง